ในการประชุมทางไกลและการนำเสนอผ่านการประชุมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ เทคนิคอย่างหนึ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญ คือ การใช้เสียงได้อย่างน่าสนใจ น่าติดตาม มาดูกันค่ะว่าทำได้อย่างไร
เสียงที่น่าสนใจ น่าติดตาม จะต้องเริ่มจาก การใช้เสียงได้อย่างมีคุณภาพ และวิธีที่จะทำให้เสียงมีคุณภาพ เริ่มต้นด้วยการใช้เสียงธรรมชาติของคุณ และพูดด้วยความมั่นใจ ลำดับถัดไปคือ กำจัดปัญหาหรืออุปสรรค ที่เกิดจากการออกเสียงในแบบที่คุณคุ้นเคย หรือใช้มันอยู่โดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีวิธีแก้ไขง่ายๆ ด้วยการบันทึกเสียงตัวเอง ฟังบ่อยๆ แล้วก็ปรับเปลี่ยนแก้ไข อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณกังวลใจกับเสียงของตัวเอง ขอให้สบายใจได้ว่า ไม่ว่าเสียงคุณจะเป็น เสียงทุ้ม เสียงแหบ เสียงใหญ่ เสียงเล็ก คุณสามารถมีเสียงที่น่าสนใจ น่าติดตาม ที่มีเอกลักษณ์ในแบบฉบับของคุณ โดยที่คุณไม่ต้องไปเลียนแบบใครๆ เลยค่ะ
เมื่อเราพูดถึงปัญหาของการใช้เสียงได้ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น เสียงดัง เสียงเบา เสียงสูง เสียงต่ำ หรืออื่นๆ แต่ความจริงแล้ว เสียงเหล่านั้นก็มีประโยชน์ ที่เราสามารถจะนำมาใช้เป็นตัวช่วย ให้การพูดของเรา สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้ ดังนี้
เทคนิคการใช้เสียงดังและเสียงเบา
ลักษณะเสียงดังไปหรือเบาไป ถ้าเราเลือกใช้เสียงดังและเบา ตามจังหวะการพูด จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เสียงดัง ใช้ดึงดูดความสนใจ ส่วนเสียงเบา ช่วยแสดงความรู้สึกที่อ่อนโยน ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เราลองพิจารณาตัวอย่างการออกเสียงดังนี้นะคะ
“ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า เราจะก้าวต่อไปด้วยกัน และขอย้ำอีกครั้งว่า บริษัทมีความห่วงใยทุกคน” ข้อความนี้ ถ้าเราพูดด้วยเสียงระดับเดียวกันหมดเลย ผู้ฟังจะไม่ค่อยรู้สึกตามที่เราพูดเท่าไร แต่ถ้าลองพูด โดยใช้เสียงดังและเสียงเบาเข้ามาช่วยเน้นข้อความ ลักษณะนี้ “ขอให้ทุกคน มั่นใจ ได้ว่าเราจะก้าวต่อไปด้วยกันและขอย้ำอีกครั้ง ว่าบริษัท มีความห่วงใย ทุกคน” ในประโยคที่กล่าวจะมีทั้งเสียงดังและเสียงเบา เมื่อเราต้องการดึงดูดความสนใจ และตอกย้ำสิ่งที่พูด ก็ต้องใช้เสียงดัง เช่น คำว่า มั่นใจ ก้าวต่อไป ส่วน คำพูดว่า ห่วงใย เมื่อเราพูดด้วยเสียงเบา ทำให้ผู้ฟังสัมผัสถึงความอ่อนโยน ความเห็นอกเห็นใจ และอย่าลืมเรื่องเนื้อเสียงนะคะ เนื้อเสียงที่ดี จะต้องเต็มเสียงค่ะ แสดงถึงความมั่นใจ ความจริงใจ น่าเชื่อถือ ดูมีพลัง แล้วก็เข้มแข็ง
การใช้เสียงดัง มีข้อพึงระวัง ว่าเราใช้เสียงดังแบบ ดังกำลังพอดี หรือ ดังแบบตะโกน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ฟังแสบแก้วหู และทำให้พลังมันหายไปค่ะ
เทคนิคการใช้ระดับเสียงสูง เสียงต่ำ
ลำดับถัดมา เราจะฝึกใช้ระดับเสียง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ น่าดึงดูด ในสิ่งที่เราพูด สิ่งที่ต้องระวังไม่ใช้เสียง “สูง” หรือแหลมปรี๊ด ระวังไม่ใช้เสียง “ต่ำ” จนผู้ฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง แต่เราก็สามารถใช้เสียงสูงเสียงต่ำ ให้เกิดประโยชน์ในการพูดของเราได้นะคะ เพราะว่าเสียงสูง ช่วยให้เกิดความตื่นเต้น สร้างความกระตือรือร้น เช่น ในการทักทายด้วยประโยคว่า “สวัสดี ดีใจจังเลยที่ได้เจอ” แบบเสียงราบเรียบ อีกฝ่ายอาจจะไม่ได้สัมผัสความดีใจ เราสามารถใช้เสียงสูงเข้ามาช่วย เป็น “สวัสดี! ดีใจจังเลยที่ได้เจอ!” ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกถึง ความสดใสร่าเริง และเมื่อคุณต้องการจะบอกเรื่องดีๆ หรือ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ สามารถใช้เสียงสูงมาช่วยได้ เช่น “ตอนนี้บริษัทมีสินค้ามาใหม่ ต้องขายดีแน่ๆ เล้ย”
ส่วนในกรณีที่เราต้องขอร้อง ขอความเห็นใจ ถ้าใช้เสียงราบเรียบร้อย สำหรับประโยคว่า “ช่วยกันนะ” เราสามารถใช้เสียงต่ำ มาช่วย โดยเปลี่ยนจากเสียงพูดธรรมดา เป็นเสียงนุ่มๆ “ช่วยกันนะ” เสียงต่ำ ทำให้ผู้ฟังสามารถสัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดได้ นอกจากนี้ เราสามารถนำเสียงต่ำมาใช้ เพื่อต้องการให้ทุกคนตระหนัก รับรู้ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เราต้องการจะบอกทุกคนว่า เรากำลังเจอปัญหาอยู่ ด้วยประโยค “และนั่น คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่”
เทคนิคการพูดเร็วหรือพูดช้า
ตัวช่วยลำดับถัดมา ที่จะนำมาใช้ให้การพูดของเราน่าสนใจได้มากยิ่งขึ้น คือ อัตราเร็วที่ใช้ในการพูด ความเร็วปกติที่คนส่วนใหญ่พูดกัน ประมาณ 120 คำ ถึง 180 คำต่อนาที เราสามารถพูดเร็วๆ ในเวลาที่เราต้องการให้ข้อมูลที่รู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่จะอ้างถึง ไม่จำเป็นต้องเน้น หรือต้องการให้ข้อมูลที่กระชับ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นข้อความหลักที่เราต้องการสื่อออกไป เพียงแต่ต้องมีเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพรวม
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของเสียงพูดเร็ว ได้แก่ ตัวอย่างคำโฆษณา “สินค้ามีจำนวนจำกัดเพียง30สายแรกเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ์นี้” การพูดเร็วๆ เพื่อต้องการให้คนตัดสินใจ ดังนั้น ถ้าคุณต้องการ “เร่ง” การตัดสินใจของใคร คุณก็สามารถพูดเร็วๆ ได้นะคะ เช่น ใช้ประโยค “เลือกเลยค่ะจะอยู่กับที่หรือจะเดินต่อ” นอกจากนี้ การพูดเร็วบางจังหวะ จะช่วยให้การนำเสนอของเราไม่น่าเบื่อได้ด้วย
แต่ถ้าเราต้องการเน้นย้ำข้อมูลที่นำเสนอ และต้องการให้ผู้ฟังตระหนักรับรู้ เราจะใช้การพูดช้าๆ ซึ่งในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า”ยืดยาด”นะคะ แต่จะใช้วิธีการพูดแล้วก็หยุด พูดแล้วหยุด ในจังหวะที่เหมาะสม เช่น ประโยคต่อไปนี้ “สิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เสียงดี มีคุณภาพ คือ การใช้เสียง ที่เป็น ธรรมชาติ” มีการหยุดเว้นวรรค เป็นการพูดช้า เพราะต้องการเน้นข้อความ แต่ถ้าพูดยานๆ จะทำให้ไม่น่าฟัง “เสียงที่-มี-คุณ-ภาพ ต้อง เป็นเสียง-ที่-เป็นธร-รม-ชาติ” แต่การพูดช้าๆ จะนำมาใช้ได้แค่เป็นช่วงๆ นะคะ บางคนอาจจะคิดว่า ทุกอย่างสำคัญไปหมดเลย อยากจะเน้นทุกข้อความ ก็เลยพูดช้าๆ ทั้งหมด กลายเป็นข้อเสีย อาจจะทำให้คนฟังหลับได้
การเว้นวรรคหรือเว้นจังหวะในการพูด และ “เสียงเงียบ”
การพูดก็เหมือนกับการเขียน ที่จะต้องมีการเว้นวรรคเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผู้ฟังสามารถติดตามได้ง่าย และแยกข้อมูลเป็นส่วนๆ ได้ เช่น ถ้าต้องการแนะนำให้ทุกคนพัฒนาตัวเอง เพื่อจะได้สู้กับ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ได้ ถ้าพูดเร็วๆ ติดกันแบบนี้ “ทักษะที่ทุกคนจะต้องมีที่จะแข่งขันกับ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ก็คือการคิดแบบไตร่ตรองการคิดแบบสร้างสรรค์การคิดแบบยืดหยุ่นและการคิดแบบเชิงซ้อน” ทำให้ผู้ฟังจับใจความไม่ทัน ควรจะเว้นวรรคเป็น “ทักษะที่ทุกคน ต้องมี เพื่อจะได้แข่งขันกับ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ คือ การคิดแบบไตร่ตรอง การคิดแบบสร้างสรรค์ การคิดแบบยืดหยุ่น และ การคิดแบบเชิงซ้อน” ช่วยให้ติดตามฟังได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การพูดที่ดี ก็ต้องเป็นการผสมผสานระหว่างความเร็วที่ใช้ในการพูด และการเว้นวรรคค่ะ
ตอนนี้ การใช้เสียงอีกแบบหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืมคิดถึง นั่นคือ เสียงเงียบ เมื่อเราต้องการให้ผู้ฟังไตร่ตรอง หรือคิดตาม หรือคิดหาคำตอบของเขาเอง เราสามารถใช้เสียงเงียบ เพื่อช่วยให้ผู้ฟังคิดตาม และสามารถมีคำตอบดีๆ ให้กับตัวเองได้ค่ะ ซึ่งวิธีนี้ จะทำให้การพูดของคุณ ทรงพลังมากขึ้นค่ะ
การพูดของเรา จะน่าฟัง น่าสนใจน่าติดตาม เมื่อเราใช้ส่วนประกอบต่างๆ ที่กล่าวมา ได้อย่างเหมาะสม ถูกที่ ถูกความหมาย ช่วยให้การนำเสนอของเรา เข้าถึงความรู้สึก และอารมณ์ของผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังคล้อยตามทุกสิ่งทุกอย่าง ตามที่เราสื่อออกไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จากการเตรียมความพร้อมของผู้พูด ได้แก่ ความแม่นยำ และรู้จริงในเรื่องที่พูด และเสียงที่ดี มีคุณภาพ ก็คือเสียงธรรมชาติของตัวเอง และพูดด้วยความมั่นใจ คุณสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ ไปใช้ในการประชุม หรือการเสนองานผ่านทางออนไลน์ หรือการนำเสนอต่อหน้าที่ประชุมแบบปกติได้ทั้งหมด และเมื่อฝึกไปเรื่อยๆ คุณก็จะมีเสียงดี มีคุณภาพ น่าสนใจ น่าติดตาม ในแบบฉบับของคุณค่ะ
คุณสามารถรับฟังในรูปแบบ audio เรื่อง “เทคนิคการใช้เสียงและการพูด ให้น่าสนใจ น่าติดตาม” ได้ทาง Podcast : Channel “Life Design Style Nassara” ได้ที่นี่ :
https://youtu.be/f_saW9iyZaM
วันที่: Wed May 14 16:10:55 ICT 2025
|
|
|