ถ้าคุณสามารถพูดต่อหน้าชุมชนได้ ด้วยความมั่นใจ คุณจะรู้สึกดี ภูมิใจในตัวเอง และก็มีโอกาสดีๆ ในชีวิต เข้ามาอีกมากมาย และสำหรับผู้อ่านหลายๆ คนที่จะรู้สึกวิตกกังวล อาจจะกลัวหรือประหม่า เมื่อต้องออกไปยืนอยู่หน้าเวที จนบางครั้งถึงกับลืมสิ่งที่เตรียมมา ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ คงจะไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ดังนั้น เราจึงต้องกำจัดมันออกไปค่ะ เรามาคุยกันนะคะ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะก้าวผ่านความกลัวในการพูดต่อหน้าชุมชนได้ค่ะ
การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามเราจะต้องรู้ที่มาที่ไปของมันก่อน เพื่อเราจะได้รักษาอาการนั้น ให้ดีขึ้นอย่างถูกวิธี และไม่เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ จากประสบการณ์ ที่ผู้เขียนได้ช่วยให้คนหายประหม่า และก้าวผ่านความกลัว ในการพูดต่อหน้าชุมชนได้ พบว่ามีสาเหตุมากมาย ซึ่งรวบรวมได้เป็นกลุ่มสาเหตุใหญ่ๆ ที่สอดคล้องกับงานวิจัยที่ได้ศึกษามา แบ่งเป็น 3 สาเหตุใหญ่ๆ ดังนี้
สาเหตุแรก มาจากตัวเราเองค่ะ สาเหตุที่สอง เป็นสาเหตุที่มาจากประสบการณ์ในอดีต และสาเหตุที่ 3 เป็นผลมาจากคนอื่น ทั้งจากคนที่เราอยู่ใกล้ชิดด้วย หรือสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ เมื่อคุณได้อ่านรายละเอียดต่อไปนี้ ขอให้คุณลองวิเคราะห์ไปด้วยก็พร้อมๆ กันว่า คุณเกิดความประหม่าหรือความกลัวการพูดต่อหน้าชุมชน ตรงกันกับข้อไหนมากที่สุด
สาเหตุที่ 1 มาจากตัวเราเอง
สาเหตุแรกที่มาจากตัวเรา ได้แก่ ยังไม่คุ้นเคยกับการไปยืนบนเวที ไม่อยากตกเป็นเป้าสายตาของคนอื่น หรือให้คนอื่นมาจ้องมองเรา ทั้งๆ ที่โดยปกติ เราก็สามารถพูดคุยกับใครๆ ได้ และเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีด้วย หรือ สำหรับบางคน อาจจะเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป ประกอบกับการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า และคิดว่า ถ้าพูดบนเวทีคงจะไม่มีใครสนใจฟัง จึงขาดความมั่นใจ หรือ บางคนอาจจะมีสาเหตุมาจาก ในครั้งนั้นยังเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องที่จะพูด หรือ การขาดทักษะบางอย่างในการพูด จึงทำให้พูดไป ประหม่าไป และยังมีอีกสาเหตุหนึ่ง คือ เป็นคนที่มักจะวิจารณ์ตัวเอง คอยจับผิดตัวเอง เห็นข้อบกพร่องของตัวเองตลอดเวลา และเมื่อใจจดจ่อกับข้อไม่ดีของตัวเอง กลายเป็นเกิดความประหม่า ขาดความมั่นใจ
ผู้เขียนเคยรู้จักกับหลายๆ คนที่มีประสบการณ์ในการพูด แล้วก็เคยพูดได้ดี โดยเฉพาะเมื่อพูดให้กลุ่มลูกน้อง หรือคนที่คิดว่าเขามีความรู้ความสามารถน้อยกว่า แต่เมื่อจะต้องนำเสนอหัวหน้า หรือผู้บริหาร กลับมีอาการประหม่า แล้วก็พูดได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ทุกครั้งที่ต้องพูด ก็มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ฟังเสมอ
สาเหตุที่ 2 มาจากประสบการณ์ในอดีต
สาเหตุที่เกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็ก เช่น เคยต้องไปยืนหน้าห้อง พูดต่อหน้ากลุ่มคน แล้วเคยถูกครูหรือผู้ปกครอง ตำหนิแล้วก็วิจารณ์คุณ จนทำให้คุณรู้สึกไม่ดี หรือมีประสบการณ์ถูกเพื่อนล้อ และยังจำความรู้สึกที่ไม่ดี เหล่านั้น หรือ บางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์การพูดครั้งแรกที่ไม่น่าประทับใจ ถูกหัวหน้า หรือบุคคลที่มีอิทธิพลในที่ประชุม ต่อว่า หรือวิจารณ์ แล้วยังคงเก็บความรู้สึกแย่ๆ ไว้ในใจ ทำให้ไม่อยากจะพูดต่อหน้ากลุ่มคนอีก บางคนอาจจะมีประสบการณ์ ที่เก็บซ่อนบางอย่างไว้ เมื่อต้องออกไปพูดต่อหน้ากลุ่มคน อาจจะไม่มีใครจับได้ เกิดความกังวล ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้ด้วย เหล่านี้รวมกันเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต
สาเหตุที่ 3 เป็นผลมาจากคนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่
สาเหตุข้อนี้ ไม่ได้มาจากตัวเราเองโดยตรง แต่เกิดจากกลุ่มสังคมที่เราอยู่ด้วย เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้น มีมาตรฐานสูง ดังนั้น ถ้าหากว่าเรามีความสามารถในระดับปกติ ก็จะดูเหมือนว่าเรายังไม่ได้มาตรฐานตามที่พวกเขาตั้งไว้ หรือมีสาเหตุจากกลุ่มสังคมที่คุณอยู่ มักจะไม่ให้กำลังใจ แต่หาข้อตำหนิติเตียน คอยจับจุดอ่อนของเรา วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เรารู้สึกแย่ ทุกครั้งที่เราออกไปพูด หากว่าเราอยู่ในสังคมแบบนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกค่ะ ที่จะทำให้เรามั่นใจในการพูด เป็นใครๆ ก็กลัวค่ะ
หลังจากที่ได้คุยกันถึงสาเหตุที่ทำให้กลัวไม่กล้าพูดในที่ชุมชนแล้ว คุณพอจะวิเคราะห์ออกหรือยังคะว่า สาเหตุความกลัวของคุณ มาจากข้อใดบ้าง อาจจะมีมากกว่า 1 ข้อ หรือปนๆ กันอยู่บ้าง ต่อไปเราจะมาดูวิธีแก้ไขกันค่ะ ก่อนอื่น รู้ไหมคะว่า การที่เราหาสาเหตุได้แล้ว นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะว่า เมื่อเราค้นพบสาเหตุ เท่ากับว่าเราได้แนวทางแก้ไขไปมากกว่า 50% แล้วค่ะ ส่วนที่เหลือ ก็คือการตัดสินใจที่จะลงมือทำหรือเปล่า เท่านั้นเอง
วิธีเปลี่ยนความกลัวและความประหม่า ให้เป็นความกล้าที่จะพูดต่อหน้าชุมชน
1. การแก้ไขความกลัวที่มาจากตัวเราเอง
จากสาเหตุข้อแรก ที่มาจากตัวของเราเอง วิธีแก้ไข ก็ต้องแก้ที่ตัวเราเองเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สาเหตุที่เราไม่อยากเป็นเป้าสายตาของคนอื่น ให้ฝึกเปลี่ยนวิธีคิด โดยนึกถึงประโยชน์ ข้อดี ที่เราได้จากการที่เราสามารถยืนพูดต่อหน้าชุมชนได้ เพราะจะทำให้มีโอกาสในชีวิตมากกว่า ทั้งจากความมั่นใจ มีความสุข ที่ได้ถ่ายทอดสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเอง ให้กับผู้คน รวมทั้งคุณค่าอื่นๆ ซึ่งคุณจะเป็นผู้หาคำตอบนั้นได้ดีที่สุด เมื่อสิ่งที่คุณจะได้ มันยิ่งใหญ่ และมีคุณค่า จะทำให้คุณกล้าตัดสินใจที่จะลงมือทำ
สาเหตุที่เกิดจากความวิตกกังวล รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า แต่ความจริงแล้ว คนทุกคนต่างก็มีค่า เพราะว่าคุณคือหนึ่งเดียวในโลกนี้ ไม่มีใครเหมือนคุณ แล้วคุณก็ไม่เหมือนใคร ขอให้มั่นใจว่า คุณมีคุณค่าแน่นอนค่ะ ตอนนี้คุณลองคิดคร่าวๆ ถึงข้อดีของคุณ ซึ่งอย่างน้อย เมื่อคุณกำลังค้นหาคำตอบจากบทความนี้ ก็แสดงให้เห็นแล้ว ว่าคุณอยากจะพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า คุณพร้อมจะเติบโต และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า
สำหรับคนที่กลัว เพราะว่าเตรียมตัวมาไม่ดี อันนี้ไม่ยากเลยค่ะ ทุกครั้งที่คุณจะพูดอะไร คุณก็สามารถศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจกับเรื่องนั้นให้ดีเสียก่อน แล้วก็ฝึกซ้อมก่อนถึงเวลา จะทำให้คุณก้าวผ่านความกลัวได้ค่ะ
ในกรณีที่เป็นคนที่ชอบวิจารณ์ตัวเอง ให้ใช้วิธีการเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ โดยทำความรู้จักตัวเองให้มาก ประเมินความสามารถของตัวเองอย่างยุติธรรมกับตัวเองด้วยค่ะ ว่าเรามีความรู้ความสามารถเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเมื่อคุณได้ฝึกฝนแล้ว วันนี้คุณก็ต้องดีกว่าเมื่อวาน รวมทั้ง การเปลี่ยนวิธีคิด มาเป็นการหาข้อดี และคอยชื่นชมกับตัวเอง และถ้าคุณรู้สึกว่า เราจะต้องเพอร์เฟค ต้องทำได้สมบูรณ์แบบ มันก็มีวิธีนะคะ ก็คือ คุณจะต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง จากงานวิจัยพบว่า คนเราสามารถมีความเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่งถ้าได้ทำอย่างต่อเนื่อง 1 หมื่นชั่วโมง ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ดังนั้น คุณก็ลองสะสมชั่วโมงบิน โดยหาแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะให้ผู้รู้ ให้ช่วยสอนคุณ หรือศึกษาจากคู่มือต่างๆ ก็ได้
และสำหรับกรณีที่คุณรู้สึกว่า ผู้ฟังเก่งกว่าคุณ มีความสามารถมากกว่า คุณก็สามารถใช้วิธีต่อไปนี้ เมื่อต้องเตรียมตัวและพูดต่อหน้ากลุ่มคน คุณจะต้องเปลี่ยนเรื่องราวนั้น ให้เป็นในมุมมองของคุณ เป็นเรื่องราว ที่มีคุณคนเดียวเท่านั้นที่จะพูดเรื่องนี้ได้ และเมื่อคุณทำได้แบบนั้น ก็ไม่มีใครเหมาะสมมากกว่าคุณ ที่จะพูดเรื่องนี้ แล้วคุณก็ไม่ต้องกังวลใจว่า ผู้ฟังจะรู้ดีกว่าคุณอีกต่อไป
2. การแก้ไขความกลัวที่มาประสบการณ์ในอดีต
วิธีแก้ไขความกลัว ที่มีสาเหตุมาจากประสบการณ์ในอดีตของคุณ ให้ใช้วิธี อยู่กับตัวเองให้มากๆ ลองทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ว่าคุณเรียนรู้อะไรได้บ้าง มีอะไรทำให้คุณฝังใจ โดยที่คุณสามารถสอนตัวเอง คุยกับตัวเองว่าจะเปลี่ยนความหมายที่คุณให้กับมันว่าอย่างไร ทำให้มันเป็นสิ่งที่ดีกับชีวิตคุณ และในบางครั้ง การทบทวนด้วยการนั่งสมาธิ ก็จะช่วยได้มากๆ นะคะ เมื่อคุณสามารถเปลี่ยนความหมาย ให้มันเป็นผลดีกับชีวิตคุณได้เมื่อไหร่ ก็จะทำให้คุณใช้สิ่งนั้น ให้กลายเป็นพลังผลักดัน ทำให้คุณกล้าพูด แต่ถ้าคุณยังไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง คุณก็สามารถขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ที่จะช่วยคุณได้ ผู้เขียนเชื่อว่า ความตั้งใจจริงของคุณ จะทำให้คุณสามารถค้นพบอะไรบางอย่าง ที่ทำให้คุณสามารถก้าวผ่านความกลัวนี้ไปได้ค่ะ
3. การแก้ไขความกลัวเนื่องจากบุคคลอื่น
สาเหตุของความกลัวที่มาจากสังคมที่คุณอยู่ วิธีแก้ไขคือ คุณต้องออกจากสังคมนั้น ไปอยู่ในสังคมที่เขาพร้อมจะส่งเสริมและสนับสนุน ให้คุณสามารถใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้ายังมีความจำเป็น เช่น เพราะเป็นสถานที่ทำงานของคุณ และคุณก็อยากจะทำงานอยู่ที่นี่ คุณก็สามารถใช้วิธี พัฒนาตัวเองตามเป้าหมาย ให้มีความสามารถ ตามมาตรฐานที่เขาตั้งไว้ ซึ่งมันก็เป็นข้อดีนะคะ ที่ทำให้คูณพัฒนาจนเก่งขึ้น และเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ความสามารถของคุณ ก็คงจะดียิ่งกว่าคนที่มาวิจารณ์คุณ
ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์ของนักพูดเดี่ยวไมโครโฟน “โน๊ต อุดม” ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฉบับหนึ่งไว้ว่า ในแต่ละครั้งที่จะต้องขึ้นไปพูดบนเวที เดี่ยวไมโครโฟน ถึงแม้จะเป็นนักพูดที่มีประสบการณ์สูง แต่ โน๊ต อุดม ก็ยังต้องฝึกฝนอย่างหนัก นับตั้งแต่การวางแผนล่วงหน้า หาเวทีย่อยเพื่อฝึกซ้อม โดยได้เสนอตัวเองขอไปพูดบนเวทีภายในมหาวิทยาลัยนับสิบแห่ง ซึ่งจะเป็นการที่ได้ส่งต่อคุณค่าให้กับนักศึกษา ไปพร้อมๆ กับได้ฝึกฝนและเรียนรู้ บทพูดที่ดีและข้อผิดพลาดของตัวเอง แล้วนำผลตอบรับทั้งบทพูดที่ใช้ได้ หรือส่วนที่ยังไม่ดี นำมาคัดเลือกปรับปรุง จนสามารถที่จะจัดการแสดงบนเวที ที่มีผู้ชมซื้อตั๋วเข้ามาฟังนับพันคน และทุกรอบการแสดงที่เขาจะขึ้นบนเวที เดี่ยวไมโครโฟน เขาจะต้องฝึกฝนอย่างหนักมาก คนทั่วไป จะฝึกฝนประมาณ 150 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะแสดงได้ 100% แต่สำหรับ โน้ต แล้ว เขาฝึกฝนถึง 300 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะแสดงบนเวทีให้ได้ 100% เห็นไหมคะ แม้นักพูดระดับมืออาชีพ ที่เราเห็นเขามีวันนี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เขาจะสามารถพูดได้ดี เขาได้ทุ่มเท แล้วก็ฝึกฝนอย่างเต็มที่ จนมีความสามารถ แบบที่เราเห็นในทุกวันนี้ค่ะ
แล้วก็มีความลับอีกอย่างหนึ่ง ที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ แต่ โน๊ต อุดม เขากล้าที่จะเปิดเผย เพื่อที่จะเป็นแรงบันดาลใจ ให้คนกล้าพูดมากขึ้น คือ ทุกครั้งก่อนที่เขาจะขึ้นเวที เดี่ยวไมโครโฟน เขาก็รู้สึกวิตกกังวล แล้วก็เครียด ส่วนใหญ่เขาก็จะใช้วิธี ทำสมาธิ แล้วก็วาดรูป เพื่อให้ตัวเองผ่อนคลาย แล้วก็สามารถขึ้นไปพูดบนเวทีได้
ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีความสามารถระดับมืออาชีพ เราจะมีความกลัวบ้าง ความประหม่าบ้าง มันก็ไม่ใช่ปัญหาหรอกค่ะ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ หาวิธีรับมือกับความวิตกกังวลนั้น เพื่อให้ก้าวผ่านความกลัวไปได้ค่ะ สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ คุณต้องตัดสินใจ ที่จะลงมือทำ โดยไม่สนใจว่า จะมีความกลัวหรือไม่ เพราะเมื่อเราได้ทำบ่อยๆ เราก็จะเก่งขึ้น มีวิธีที่ดีขึ้น แล้วก็มีความมั่นใจมากขึ้น
การฝึกฝนเยอะๆ ก่อนจะลงสนามจริง ก็ทำให้เรามั่นใจมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอแนะนำ สถานที่ที่จะเป็นเวทีให้คุณได้มีโอกาสฝีกพูดต่อหน้าชุมชน รวมทั้งได้เรียนรู้จากประสบการณ์ จากการลงมือทำจริง ได้ที่สมาคม โทสมาสเตอร์ ในประเทศไทย คุณสามารถติดต่อและเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีให้เลือกมากกว่า 20 แห่งในประเทศไทย โดยมีรายละเอียด วันเวลา และสถานที่ ได้ที่เวบไซต์ www.toastmasters.org และ www.toastmastersdistrict97.org
วันที่: Wed May 14 17:10:31 ICT 2025
|
|
|