รับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดด้วย Cognitive Flexibility
ในโลกปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย หลายเหตุการณ์เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิด และบางเหตุการณ์เราก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น แต่ในเมื่อเราควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ สิ่งที่เราควรทำก็คือ ปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเราจะมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี เมื่อเรามีทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด
Cognitive Flexibility หรือการยืดหยุ่นทางความคิด เป็นความสามารถในการเลือกคิด เลือกทำ ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่กำลังเจออยู่ โดยไม่ได้ยึดกับความคิดหรือความเชื่อเดิมๆ คนที่มีความยืดหยุ่นทางความคิด จะไม่ต่อต้าน หรือเสียพลังงานไปกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่จะมองหาทางออกที่ดีๆ ที่ทำให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย จากเหตุการณ์ที่กำลังเจออยู่ ในขณะเดียวกัน ก็พร้อมจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ แล้วมาผสมผสานกับความรู้ทักษะที่มีอยู่ ทำให้สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เขาจะไม่เครียดไม่เศร้าใจ ไม่หดหู่หรือวิตกกังวล เพราะเขารู้ว่าจะรับมือกับเหตุการณ์นั้นได้ ทักษะนี้อาจจะเรียกว่าเป็นทักษะเรียกสติ หรือทักษะที่ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันก็ได้
ผู้เขียนให้ความสนใจกับทักษะ Cognitive Flexibility เป็นอย่างมาก เมื่อได้ศึกษามากขึ้น และนำไปใช้กับหลายเหตุการณ์ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าชีวิตมีความหวัง และมั่นใจว่า ต่อไปนี้ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เราจะสามารถรับมือได้ นอกจากนี้ ผู้เขียนได้พบบทความเรื่อง “7 Ways to Develop Cognitive Flexibility” เขียนโดย Marianne Stenger ซึ่งได้แนะนำ 7 วิธีที่จะช่วยให้เราพัฒนาทักษะ cognitive flexibility หรือความยืดหยุ่นทางความคิด ไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
วิธีที่ 1 เปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมที่เคยทำในแต่ละวัน
โดยปกติเราอาจจะออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เราก็สามารถเปลี่ยนเป็นการเดินเร็ว และนานขึ้น เพื่อให้ได้การเผาผลาญที่ไม่แตกต่างจากการวิ่ง หรือ ในเรื่องการรับประทานอาหาร เราก็อาจจะลองเปลี่ยนถ้วยกาแฟใบเดิมที่เราใช้เป็นประจำ มาใช้ถ้วยใบอื่น ที่เรายังไม่เคยใช้ประโยชน์จากมันก็ได้ค่ะ
วิธีที่ 2 หาประสบการณ์ใหม่ๆ
ลองค้นหาประสบการณ์ แบบที่เราไม่ค่อยได้ทำ เช่น ออกไปท่องเที่ยว หรือไปในสถานที่ที่เราไม่เคยไป เป็นการเปิดโลก ได้เห็นสถานที่ที่เราไม่เคยเห็น นอกจากนี้ ประสบการณ์ใหม่ๆ อาจจะเป็นความรู้ เรื่องราวที่เราไม่เคยศึกษาอย่างจริงจัง และนับเป็นโอกาส ที่เราจะได้เพิ่มความรู้ และยังสามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกได้ด้วย
วิธีที่ 3 ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการทำสิ่งใหม่ๆ ในทุกวัน
ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานจากที่บ้าน เพื่อยับยั้งโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 และต้องทำอาหารกินเองที่บ้านบ่อยขึ้น ซึ่งเมนูที่ขาดไม่ได้ก็คือ เมนูจากไข่ไก่ เราก็สามารถพลิกแพลงมื้ออาหารจากเดิมที่เป็น ไข่ดาว ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่เจียว ลองใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำเมนูใหม่ๆ พร้อมกับตั้งชื่อให้น่าสนใจในแบบของเราเอง เป็นต้น หรือดัดแปลง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบเดิมๆ มาใช้แทนเส้นสปาเก็ตตี้ สำหรับเมนูสปาเก็ตตี้คาโบนาร่า สปาเก็ตตี้ซอสครีมเห็ด หรือใช้แทนเส้นใหญ่ผัดซีอิ้ว หรือผัดไทย เป็นแนวคิดในการสร้างสรรค์เมนูแบบของคุณได้ด้วย
วิธีที่ 4 การหยุดใช้ตัวช่วย หรือเปลี่ยนมาใช้วิธีแบบดั้งเดิม
เมื่อจะต้องคำนวณตัวเลข ทุกคนจะคุ้นเคยกับการใช้เครื่องคิดเลข หรือฟังก์ชันเครื่องคิดเลขบนสมาร์ทโฟน ดังนั้น บางครั้งเราก็อาจจะหันมาใช้วิธีการคำนวณจากกระดาษ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่เราเคยใช้กัน หรือ เราอาจจะลองใช้ลูกคิดแบบเดิมก็ได้นะคะ การกลับไปใช้วิธีดั้งเดิม บางครั้งก็อาจจะทำให้เราเกิดความคิดและมุมมองที่เราไม่ได้นึกถึงมาก่อน หรือแม้แต่การหุงข้าว โดยใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า บางครั้งเราก็สามารถเปลี่ยนเป็นหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ หรือ เปลี่ยนจากการซักผ้าด้วยเครื่อง มาเป็นซักผ้าด้วยมือบ้าง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีไฟฟ้า คุณก็จะไม่เดือดร้อนมาก การที่เราหันกลับมาใช้วิธีดั้งเดิม จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เราไม่มีตัวช่วยได้
วิธีที่ 5 ทำความรู้จักคนใหม่ๆ
การได้ออกไปทำความรู้จักกับผู้คน โดยเฉพาะคนที่มีความแตกต่างจากเรา จากกลุ่มสังคม หรือวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้ยเคย จะช่วยให้เราได้เห็นมุมมองกว้างขึ้น เห็นความแตกต่างของกลุ่มคน หรือจะใช้วิธี ศึกษาข้อมูลผ่านทางสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ก็ได้ ตัวอย่างเช่น วีดีโอคลิปของต่างประเทศ กลุ่มชนในพื้นที่ต่างๆ ที่เราไม่คุ้นเคย และถ้าจะให้ใกล้ตัวขึ้นมาอีก ก็อาจจะใช้วิธี ทำความรู้จักกับคนที่มีพื้นฐาน หรือมีความถนัดแตกต่างจากคุณก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตรกรรม หรืองานศิลปะ งานฝีมือ ที่คุณไม่เคยทำมาก่อน เหล่านี้ จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ ทักษะ หรือแนวคิดและทัศนคติ แบบที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน
วิธีที่ 6 การถ่ายทอดสิ่งที่ชำนาญ หรือได้เรียนรู้ ให้กับคนอื่น
การถ่ายทอดทักษะความชำนาญของเรา หรือแม้แต่ความรู้ใหม่ๆ ที่เรากำลังศึกษา ให้กับคนอื่น เป็นการฝึกให้เราต้องเข้าใจเรื่องที่จะถ่ายทอดอย่างแท้จริง
วิธีที่ 7 เมื่อมีใครไม่เห็นด้วยกับเรา ให้ยอมรับอย่างไม่ต่อต้าน
การยอมรับแบบไม่ต่อต้าน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปเห็นด้วยกับเขานะคะ แต่ให้เราทำความเข้าใจว่า ที่เขาไม่เห็นด้วยกับเรา จะเกิดจากเหตุผลอะไรได้บ้าง การฝึกวิเคราะห์ในลักษณะนี้ จะทำให้เราได้ค้นพบมุมมองที่แตกต่างจากเดิม และยอมรับความเห็นต่าง และลำดับต่อไป จะสามารถเป็นได้ 2 ทาง คือ เราอาจจะเปลี่ยนความคิด หรือ จะทำให้เรารู้วิธีว่า เราจะนำเสนอให้อีกฝ่าย สามารถเข้าใจความคิดของเราได้อย่างไร
ประโยชน์ของการปรับความคิด ให้มีความคิดหลายรูปแบบได้ ช่วยให้เราเห็นได้ว่า ชีวิตมีทางเลือก มีความหวัง สามารถสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง และเมื่อเรารู้สึกว่ามีความหวังในชีวิต ร่างกายจะหลั่งสารที่ชื่อว่าโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ค้นพบโดย Arvid Carlsson นักประสาทวิทยาชาวสวีเดน เมื่อร่างกายหลั่ง dopamine ออกมา จะทำให้เรารู้สึกดี มีกำลังใจ นอกจากนี้ dopamine ยังเป็นสารที่ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ดี ทำให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉง และยังช่วยให้เรามีความจำที่แม่นยำขึ้น และเกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
ไม่ว่าตอนนี้คุณจะมีทักษะการยืดหยุ่นทางความคิดอยู่ในระดับใด ถ้าคุณฝึกฝนและนำไปใช้อย่างสม่ำเสมอ คุณก็จะสามารถปรับตัว รับมือได้กับทุกเหตุการณ์ และทุกวิกฤตของชีวิต เป็นการเตรียมความพร้อม ให้เราสามารถรับมือได้ดี รับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด
วันที่: Wed May 14 16:50:58 ICT 2025
|
|
|