ทักษะแห่งอนาคต 8 “C” ที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็สู้คุณไม่ได้
Life Design Style Nassara มีทักษะที่คัดเลือกมาจาก ‘ทักษะแห่งอนาคต ที่ทำให้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ก็สู้คุณไม่ได้’ ได้แก่ ทักษะ 8 “C” ซึ่งได้รวบรวมมาจากหลายแหล่ง รวมทั้งเป็นทักษะที่แนะนำโดย สภาเศรษฐกิจโลก (World Business Forum) เมื่อคุณมีความชำนาญในทักษะทั้ง 8 นี้แล้ว นอกจากจะใช้สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ยังเป็นทักษะที่ใช้รับมือกับทุกสถานการณ์ด้วย โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโรคระบาด โควิด-19 ซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทั่วโลก
ทักษะ 8 “C” ที่จะทำให้ AI ก็สู้คุณไม่ได้ มีดังนี้
1. Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
2. Creativity ความคิดสร้างสรรค์
3. Cognitive Flexibility ความยืดหยุ่นทางด้านความคิด
4. Complex Problem Solving ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
5. Cultural Awareness การตระหนักรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม
6. Coordinating with Others ทักษะในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น
7. Communication ทักษะการสื่อสาร
8. Coaching ทักษะการโค้ช
ในระหว่างที่อ่านบทความนี้ อยากให้คุณได้วิเคราะห์ตัวคุณเองไปด้วย ว่ามีทักษะแต่ละข้อมากน้อยขนาดไหน เพื่อจะได้เป็นแนวทางที่จะพัฒนาตนเองต่อไปได้ค่ะ ...
1. Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
Critical Thinking คือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถที่จะไตร่ตรอง เพื่อเลือกว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร เป็นการประมวลข้อมูลทั้งหมด และไม่ตัดสินใจทำอะไรโดยไร้เหตุผลหรือใช้อารมณ์ ตัวอย่างเช่น การรับข่าวสารในสถานการณ์โรคระบาด ก่อนที่เราจะเลือกเชื่ออะไร เราก็ควรจะต้องดูที่มาที่ไปก่อน เพราะในช่วงวิกฤติครั้งนี้ มี fake news ที่ส่งต่อๆ กันมาตลอดเวลา และทักษะ critical thinking ช่วยให้เราไม่วิตกกังวลเกินเหตุ หรือชะล่าใจจนไม่ได้เตรียมความพร้อมทำอะไรเลย
2. Creativity ความคิดสร้างสรรค์
Creativity ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความต้องการสิ่งใหม่ๆ ต้องการสร้างความแตกต่าง ไม่ว่าจะเพื่อต้องการแก้ปัญหา หรือหาทางเลือกที่จะรับมือกับสถานการณ์ใด คนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดี จะต้องเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ต้องการพัฒนาให้เกิดคุณค่ามากกว่าเดิม ในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ เมื่อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดแคลน ผู้คนหันมาใช้หน้ากากผ้าที่สามารถซักทำความสะอาดก่อนจะนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เราจะเห็นว่า มีหลายๆ คน เย็บหน้ากากอนามัยให้มีลวดลายสวยงาม ซึ่งเป็นตัวอย่างของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่ใหญ่โต เพียงแค่ทำให้แตกต่างจากที่เคย แล้วทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น ก็จัดว่าคุณมีความคิดสร้างสรรค์แล้วล่ะค่ะ
3. Cognitive Flexibility ความยืดหยุ่นทางด้านความคิด
ทักษะ Cognitive Flexibility หรือ ความยืดหยุ่นทางด้านความคิด เป็นทักษะที่มีความสำคัญในภาวะวิกฤติ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง คนที่มีทักษะ cognitive flexibility จะไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเป็นในอดีต และจะไม่เรียกร้องกับสิ่งรู้ว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พร้อมจะยอมรับและปรับตัวเองให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แทนที่จะเสียพลังงานไปต่อต้าน แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่คุ้นเคย การปรับตัว ปรับความคิด ให้เข้ากันกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราอยู่รอดได้ ในทุกสถานการณ์
Cognitive Flexibility ยังเป็นพื้นฐานของแนวคิดใหม่ๆ ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Growth Mindset หรือ Design Thinking ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นทางความคิดด้วย ขอให้ลองพิจารณาดูว่า ในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาดครั้งนี้ ถ้าคุณไม่ได้รู้สึกอึดอัด ลำบากใจ ในการที่ไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนก่อนหน้านั้น ก็แสดงว่าคุณก็มี cognitive flexibility อยู่ในตัวด้วยเหมือนกันนะคะ
4. Complex Problem Solving ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
Complex problem solving คือความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และความซับซ้อนที่เกิดขึ้น มาจากสาเหตุหลายๆ อย่าง รวมทั้งมีความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรวดเร็วในประเทศไทย รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และมีคำสั่งให้หยุดกิจการต่างๆ เพื่อยับยั้งโรคระบาด จำกัดความเสี่ยงต่อชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ส่งผลทำให้คนต่างจังหวัดจำนวนมาก ตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน แต่ถ้ารัฐบาล ไม่ได้เตรียมแผนรองรับการเดินทางกลับบ้านของประชาชนจำนวนมหาศาล ก็จะเป็นเหตุให้มีการแพร่ระบาด จากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีทักษะการแก้ปัญหาเชิงซ้อนได้ดี จะต้องมีทักษะอื่นๆ ประกอบด้วย แล้วนำมาประมวลรวมกัน เพื่อที่ว่า นอกจากการแก้ปัญหาของเราจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่แล้ว มันยังเป็นการแก้ปัญหาได้แบบยั่งยืน
5. Cultural Awareness การตระหนักรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม
Cultural Awareness คือการตระหนักรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ ยก ตัวอย่าง ความแตกต่างของประเทศจีน ประเทศในเอเชีย กับ ประเทศในยุโรป มีความแตกต่างกัน ชาวจีนมีความเคยชินกับการดำเนินชีวิตภายใต้การนำของรัฐบาล แตกต่างจากฝั่งยุโรป ที่ประชาชนให้ความสำคัญกับอิสระ เสรี มีความแตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรม ส่งผลให้นโยบายปิดเมือง สวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อยับยั้งโรคระบาด ของประเทศในเอเชีย เกิดผลลัพธ์ และการต่อต้านจากผู้คน แตกต่างจากประเทศในยุโรปและอเมริกา
Cultural Awareness ยังครอบคลุมไปถึงความแตกต่างของคนแต่ละคนด้วย ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากครอบครัว ต่างคนก็จะมีประสบการณ์ วิถีการดำเนินชีวิต และยังมีการรับรู้ การสื่อสาร ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่ง cultural awareness ช่วยให้เราเข้าใจคนมากขึ้น และจะเลือกใช้มีวิธีการที่เหมาะสมในการรับมือตามลักษณะของกลุ่มหรือบุคคลแต่ละคนได้ดี
6. Coordinating with Others ทักษะในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น
Coordinating with Others คือการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นทักษะที่เกี่ยวเนื่องมาจาก Cultural Awareness แม้ในขณะที่เราต้อง Work from Home มากขึ้น แต่เราก็ยังต้องประสานงานกัน ขอความร่วมมือ ขอความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องการก้าวหน้าในงาน หรือผู้นำขององค์กร เพราะเราจำเป็นที่จะต้องสร้างทีมที่มีความร่วมมือกัน ในการทำงานใดๆ ให้สำเร็จ ดังนั้น การที่เราเข้าใจความแตกต่าง และมีวิธีเข้าถึงคนแต่ละคน จึงเป็นคุณสมบัตสร้างความได้เปรียบของเรา
7. Communication ทักษะการสื่อสาร
Communication หรือทักษะการสื่อสาร เป็นความสามารถที่จะถ่ายทอดสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเรา ไปยังคนอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ เราจำเป็นต้องให้ข้อเท็จจริง สื่อสารด้วยความเป็นจริงกับผู้อื่น และบางครั้งก็อาจจะเป็นข้อเท็จจริงที่คนไม่อยากรับรู้ ดังนั้น เราจะต้องใช้เทคนิคการสื่อสาร ที่จะช่วยให้เขามีกำลังใจ มีความหวัง เมื่อรับทราบข่าวร้ายแล้ว หรือ ในกรณีที่จะต้องออกกฎระเบียบ ที่คนอาจจะไม่อยากทำตาม ซึ่งจะต้องใช้ทักษะในการนำเสนอ มีจิตวิทยาที่ช่วยจูงใจให้เขารู้สึกดีกับสิ่งที่จะต้องทำ
ทักษะในการการสื่อสาร ยังมีรายละเอียดต่างๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอด้วยการเล่าเรื่อง (storytelling) หรือ ทักษะการเจรจาต่อรอง เป็นต้น ผู้เขียนอยากให้คุณลองวิเคราะห์ตัวเองในเรื่องการสื่อสารว่า คุณมีข้อดีหรือจุดเด่น กับทักษะการสื่อสารในด้านใดบ้าง และมีทักษะการนำเสนอ ในด้านไหนที่คุณอยากจะเติมเต็ม ซึ่งคุณคิดว่า ถ้าคุณชำนาญแล้วจะทำให้คุณสื่อสารได้ผลลัพธ์ทุกครั้ง
8. Coaching ทักษะการโค้ช
ทักษะ C ตัวสุดท้าย เป็นทักษะที่จะทำให้เรารู้จักตัวเอง สามารถขยายศักยภาพ และใช้ความสามารถที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ได้แก่ ทักษะ Coaching และทักษะโค้ชชิ่งที่เราพูดถึงในที่นี้ เราจะเน้นการอยู่กับตัวเอง ตั้งคำถามให้ตัวเอง และหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราจะทำแบบนี้ได้ดี ด้วย Empathy Listening Skill นั่นคือ เข้าอกเข้าใจในตัวของเราเองอย่างดีเยี่ยม และ ถ้าเราสามารถฝึกทักษะ coaching ได้ดี นอกจากจะโค้ชตัวเราเองได้แล้ว เรายังสามารถไปโค้ชคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในภาวะที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด เราสามารถโค้ชตัวเอง ด้วยการตั้งคำถาม และหาคำตอบว่า เราจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร
สร้างทักษะ 8 “C” และลงมือทำในทุกๆ วัน
และนั่นก็คือทักษะทั้งหมด 8 “C” ที่เราได้ทำความรู้จักกันไปแล้ว เราสามารถพัฒนาทักษะแต่ละอย่าง และใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ในภาวะที่เราต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งการดำเนินชีวิต และภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก แต่ยังเป็นโอกาสที่คุณจะได้ใช้ทักษะ 8 “C” ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา การตัดสินใจ หรือหาทางเลือกใหม่ พร้อมกับเปิดโอกาสให้คุณได้ค้นพบศักยภาพของคุณ ไม่เพียงแต่คุณจะรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ได้ มันอาจจะพลิกชีวิตให้คุณเป็นคนที่ดีกว่าเดิม เก่งขึ้นกว่าเดิม และประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิม
แล้วพบกันใหม่ กับบทความดีๆ จากรายการ Life Design Style Nassara ค่ะ
วันที่: Wed May 14 17:35:16 ICT 2025
|
|
|