Support
NS Wisdom
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

กล้าทำในสิ่งที่กลัว

pookyns@ymail.com | 06-05-2563 | เปิดดู 1169 | ความคิดเห็น 0

กล้าทำในสิ่งที่กลัว

 

 

มีใครเคยกลัวที่จะทำอะไรบางอย่าง แล้วในที่สุดก็ไม่ได้ทำ ทำให้พลาดโอกาสดีๆ ของชีวิตบ้างคะ? และตอนนี้ คุณกำลังกลัวที่จะทำอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่าคะ? ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยกลัว หรือกำลังกลัวที่จะทำบางอย่างอยู่ เรามาเรียนรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกนี้ไปพร้อมๆ กันนะคะ

 

ความกลัวแบบหนึ่งที่เชื่อว่าทุกๆ คนจะต้องรู้จัก เป็นความกลัว ที่เราอยากทำอะไรบางอย่าง และเราก็รู้ว่าเราควรจะทำสิ่งนั้น แต่ก็ยังลังเล ไม่กล้าลงมือทำ ผู้เขียนยังจำได้ เมื่อครั้งที่เข้าเรียนวิชา Marketing อาจารย์ได้บรรยายด้วยกรณีศึกษา โดยให้นักศึกษาได้ใช้ความคิด และออกความเห็น ในครั้งนั้นอาจารย์ได้ยกกรณีศึกษา เรื่องการจัดแข่งขันระหว่างนักกีฬาหลากหลายสาขา แล้วอาจารย์ให้ประเมินดูว่า ใครจะเป็นผู้ชนะ ในตอนนั้นผู้เขียนได้คิดในใจว่า จะต้องเป็นนักวิ่งแน่ๆ แต่ก็ไม่กล้ายกมือตอบออกไป เพราะกลัวจะผิด แล้วก็จะอายคนอื่นๆ สักพักอาจารย์เฉลยคำตอบคือนักวิ่งนั่นเอง เมื่อได้ยินคำตอบ ผู้เขียนก็รู้สึกเสียดายที่ไม่กล้ายกมือตอบ

 

นอกจากในห้องเรียนแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าเราต่างก็เคยมีประสบการณ์ ที่ไม่กล้าทำ ไม่กล้าตอบอะไรออกไป เพราะกลัวจะถูกคนอื่นมองว่า ไม่ฉลาด ไม่ดีพอ ไม่ได้เก่งจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปกตินะคะ ที่เราจะเกิดความรู้สึกแบบนั้น

 

ความกลัวครั้งนี้ของคุณ จัดอยู่ในกลุ่มไหน?

 

Anthony Robbins กล่าวไว้ว่า คนเราส่วนใหญ่ จะกลัวคนอื่นว่าเราไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ จึงเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร เรียกว่าอยู่ใน Comfort Zone นอกจากนี้ ยังมีความกลัวอีกแบบหนึ่งคือ กลัวว่าคนจะไม่รัก ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ซึ่งความกลัวแบบนี้ อาจจะทำให้เราตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ที่เราไม่ได้อยากทำ เพราะกลัวว่าถ้าไม่ทำ จะไม่ได้รับความรัก หรือไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม และกลุ่มสุดท้าย เป็นความกลัวที่เกิดมาจากความไม่รู้ ความวิตกกังวลไปล่วงหน้า กลัวว่าจะมีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา หรือเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เราก็เลยเลือกที่จะไม่ทำอะไรดีกว่า

 

วิธีที่จะรับมือกับความกลัวของคุณ และพลิกให้เป็นโอกาสในชีวิต

 

ผู้เขียนได้เคยมีประสบการณ์เรื่องความกลัวที่จะทำมาหลายครั้ง จนทำให้รู้ว่าความกลัวแบบนี้ ทำให้เราเสียโอกาสดีๆ ในชีวิต ทั้งโอกาสที่จะพัฒนาและเติบโตในหน้าที่การทำงาน จนกระทั่งได้มีจุดเปลี่ยน เมื่อได้ค้นพบความต้องการของตัวเองว่า อยากจะเป็นวิทยากร เพราะว่าชอบสอน แล้วยังได้รับโอกาสให้เป็นวิทยากร สอนให้กับผู้จัดการร้านสาขาของบริษัท ในครั้งนั้นก็เกิดความกลัว ทั้งกลัวว่าผลที่ออกมาจะดีไม่พอ  จะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้เรียน แต่ด้วยใจที่อยากจะได้เป็นวิทยากรมาก จึงได้ทบทวนกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรดี ในที่สุดก็ได้พบคำตอบกับตัวเองว่า ทำไมเราต้องกังวลกับผลที่จะเกิดขึ้น แทนที่จะเปลี่ยนเป้าหมาย ให้เป็นว่าเราอยากมีประสบการณ์ ดังนั้น ขอให้ได้สอนครั้งแรกเถอะ และว่าไม่ว่าจะถูกใจใคร หรือผิดพลาดอะไรไปบ้าง แต่ทุกอย่างจะต้องมีการเริ่มต้นทำครั้งแรกก่อน และนี่คือโอกาสที่เราจะได้เป็นวิทยากรครั้งแรก  

 

1. เปลี่ยนเป้าหมายเรื่องผลลัพธ์ ให้เป็นเป้าหมายขอให้มีประสบการณ์ 

 

เมื่อได้เปลี่ยนเป้าหมายในใจ ตั้งใจว่า ขอให้ได้ลงมือสอนครั้งนี้ เท่านั้นก็พอ จึงทำให้เกิดความรู้สึกดีกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้กังวลกับผลสุดท้าย เกิดความสบายใจมากขึ้น จึงสามารถใช้เวลา ทุ่มเทในการเตรียมการสอน ทั้งลำดับกิจกรรม แนวคิดสำคัญที่ผู้จัดการร้านจะต้องได้กลับไปในวันนั้น ทำให้เปลี่ยนจากความกลัวเป็นความกล้า โดยไม่ได้สนใจว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไร สนใจแต่เพียงว่า ขอให้ได้ทำ ขอให้มีประสบการณ์ในการทำครั้งแรกก็พอแล้วค่ะ

 

วิธีคิดที่ให้เปลี่ยนเป้าหมายเป็นว่าจะได้ประสบการณ์เท่านั้น ได้ช่วยให้ผู้เขียน กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ที่อยากทำเป็นจำนวนมาก และได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก นับจากนั้น

 

2. ชีวิตไม่มีความล้มเหลว มีแต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการลงมือทำ 

 

วิธีคิดอย่างที่สอง ที่ช่วยให้คุณตัดสินใจที่จะทำในสิ่งที่กลัว วิธีนี้ผู้เขียนได้เรียนรู้ในหลักสูตรการโค้ช ซึ่งมีคำพูดหนึ่ง กล่าวไว้ว่า “ไม่มีความล้มเหลว มีแต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการลงมือทำ” ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่เราได้รับ คือผลสะท้อนกลับจากสิ่งที่เราทำ ถ้าได้ผลดี เราก็ทำอย่างเดิมต่อไป หรือ จะปรับปรุงได้อีกก็ได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลตามที่เราต้องการ เราก็เรียนรู้ว่า ครั้งต่อไปจะต้องใช้วิธีที่ต่างจากเดิม ปรับปรุงใหม่ให้เข้าใกล้ผลอย่างที่ตั้งใจ และสิ่งที่เกิดขึ้น เราจะไม่เรียกว่าความล้มเหลว แต่จะเรียกว่า “ผลที่ได้จากการลงมือทำ” แนวคิดนี้ ทำให้ผู้เขียน กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เพราะต่อไปนี้ จะไม่มีความล้มเหลว มีแค่ผลลัพธ์ที่เราได้จากการลงมือทำเท่านั้น

 

3. เตรียมตัวให้พร้อม ฝึกฝนจนชำนาญ

 

วิธีคิดข้อที่ 3 ให้ฝึกฝนจนชำนาญ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของเรา ก่อนลงสนามจริงค่ะ ผู้เขียนยังจำประสบการณ์ครั้งที่ได้รับเชิญให้เป็น Speaker ในประเทศเวียดนาม บนเวทีใหญ่ งานสัมมนาประจำปีของสมาคมระหว่างประเทศ มีผู้ฟังมากกว่า 150 คน ครั้งนั้นผู้เขียนตื่นเต้นมากๆ เพราะเป็นเวทีในต่างประเทศครั้งแรก กลัวว่าเมื่อยืนบนเวทีแล้วจะพูดไม่ออก อาจจะลืมบทที่จะพูด แต่เนื่องจาก ในครั้งนั้นมีเวลาเตรียมตัวอยู่พอสมควร จึงตัดสินใจที่จะเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ด้วยการฝึกพูดอย่างหนัก ตั้งแต่เริ่มเขียนบทพูด ท่องบทที่เตรียมทุกวัน ในระหว่างฝึกซ้อม ได้จินตนาการ เห็นภาพตัวเองให้จัดท่าทาง ตามจังหวะของบทพูด

 

เมื่อซ้อมบทพูดได้คล่องแล้ว ผู้เขียนยังได้ซ้อมกับเวทีเล็กๆ ในประเทศก่อนวันจริงด้วย และทุกครั้งที่ไปพูดในกลุ่มของสมาคม ก็จะถามความเห็นจากผู้ฟัง และได้รับคำแนะนำต่างๆ ทั้งประโยคที่ปรับให้ประทับใจมากขึ้น ลดส่วนที่เยิ่นเย้อ และแก้ไขจังหวะการเน้น หรือหยุดให้ผู้ฟังคล้อยตาม

 

ในวันที่ออกเดินทางไปที่เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ถึงแม้จะยังคงรู้สึกหวั่นกลัวอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่ได้ซ้อมมาอย่างหนัก จึงเกิดความมั่นใจลึกๆ และตั้งใจว่า จะทำให้เต็มที่ โดยจะไม่สนใจว่าผลจะเป็นอย่างไร ตามวิธีในข้อแรกที่ว่า “มันคือประสบการณ์ครั้งแรก ที่เราจะได้ยืนบนเวทีของต่างชาติ” และข้อที่ 2 “ไม่มีความล้มเหลว มีแต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการลงมือทำ” ทั้ง 2 วิธีได้ทำให้เกิดกำลังใจ ฮึกเหิมที่จะขึ้นเวที ประกอบกับการฝึกซ้อมอย่างดี ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะขึ้นบนเวที และในครั้งนั้น ได้มีแฟนคลับติดตามผลงานของผู้เขียนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก 

 

4. จดจ่อกับข้อดีที่คุณมีอยู่ และใช้ให้เป็นประโยชน์

 

ในบางครั้ง แม้ว่าเราจะฝึกฝนอย่างดีแล้ว ก็อาจจะยังมีความตื่นเต้น หรือเกิดความประหม่า รวมทั้งเหตุการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ ณ เวลาที่เราแสดงจริง ซึ่งพบได้เป็นประจำ เช่น ในการแข่งกีฬาอาชีพ นักกีฬาที่ฝึกซ้อมเป็นประจำ แต่หลายครั้งที่ลงแข่ง เกิดความผิดพลาด มีอารมณ์หงุดหงิด ทำให้ใช้ศักยภาพไม่เต็มที่

 

ดังนั้น เมื่อจะลงมือทำ ให้เราฝึกที่จะใส่ใจกับสิ่งที่เราถนัด ที่เราทำได้ หรือควบคุมได้ โดยไม่สนใจข้อบกพร่อง หรือข้อเสียต่างๆ เมื่อเราจดจ่อกับสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ เพื่อใช้ข้อดีของเราให้เต็มที่ พร้อมกับเตือนตัวเองว่า “ไม่มีความล้มเหลว มีแต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการลงมือทำ” “เรียนรู้จากครั้งนี้ และจะพัฒนาให้ดีขึ้น”

 

วิธีที่ให้เราใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะช่วยให้เราลดความกลัว และสามารถใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ค่ะ

 

5. ความผิดพลาดแต่ละครั้ง เป็นอีกก้าวสู่ความสำเร็จ

 

ก่อนที่เราจะเริ่มเดินได้เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ต่างก็ต้องล้มลุกคลุกคลานนับครั้งไม่ถ้วน หรือเมื่อเราฝึกขี่จักรยาน ในระหว่างที่เราฝึก เราก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย อาจจะขี่จักรยานไปล้มไป แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะขี่ให้เป็น หรือฝึกว่ายน้ำ อาจจะจมน้ำบ้างสำลักน้ำบ้าง เราก็ไม่ได้คิดอะไร ยังว่ายต่อไปจนกระทั่งเกิดทักษะว่ายน้ำเป็น ดังนั้น จะเห็นว่า จนกว่าเราจะทำอะไรได้สักอย่างหนึ่ง จะต้องผ่านกระบวนการ ที่ผิดพลาดบ้าง ทำได้ไม่ดีบ้าง แต่ถ้าเราไม่เคยขี่จักรยานล้ม หรือไม่เคยสำลักน้ำ เราก็คงจะไม่สามารถขี่จักรยานได้ หรือว่ายน้ำเป็น

 

เช่นเดียวกัน ในขั้นตอนที่เราทำผิดพลาดหรือยังทำอะไรได้ไม่ดีพอ นั่นเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งเป็นวิธีคิดข้อที่ 5 คือ “ความผิดพลาด หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าความล้มเหลว มันคือขั้นตอนหนึ่ง ที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ”

 

และนั่นก็คือวิธีเอาชนะความกลัว ทั้ง 5 ข้อ และถ้าตอนนี้คุณมีสิ่งที่อยากทำ แต่ยังลังเล อาจจะเพราะว่าคุณรู้สึกกลัว จนไม่กล้าทำ ให้ลองใช้ 5 แนวทางนี้ดูนะคะ ผู้เขียนอยากให้คุณได้ตัดสินใจที่จะทำ และอยากให้คุณมองเห็นภาพ ที่คุณได้ทำสิ่งที่ตั้งใจ ด้วยความมั่นใจ ด้วยการเตรียมความพร้อม และเน้นไปที่ศักยภาพที่คุณมีอยู่ โดยไม่ต้องสนใจว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่สนใจว่า ขอให้ได้มีประสบการณ์ในครั้งนี้ และจะได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น

 

จุดเริ่มต้นของการลงมือทำ เพียงแค่ตัดสินใจล่ะค่ะ เพราะจริงๆ แล้ว ไม่มีใครหรอกค่ะ ที่ไม่เคยกลัวอะไร และคนที่กล้าลงมือทำอะไร ก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่กลัวนะคะ เพียงแต่ว่า เขาตัดสินใจที่จะลงมือทำ และก็ขอให้คุณเป็นคนคนนั้นค่ะ

 

“ Feel the Fear and Do It Anyway “

ความคิดเห็น

วันที่: Wed May 14 17:52:23 ICT 2025

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

Contact Us

บริษัท เอ็น เอส วิสดอม คอนซัลติงจำกัด


956/8 ถนนประชาราษฎร์สาย1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800
โทร : 080-241-6444  
อีเมล : nassara@nswisdom.co.th

Get Connected