เมื่อคุยกับใคร เราก็คงอยากให้คนที่เราคุยด้วยรู้สึกดีกับเรา อยากพูดคุยกับเราอีก
เพราะนั่นหมายความว่าเรากำลังได้ใจผู้ที่เราสนทนาอยู่ การทำเช่นนั้นได้ มีผลดีต่อเราแน่นอน
อย่างน้อยก็ได้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับเขา และอาจนำพาไปสู่ความสำเร็จหรือสิ่งที่เราต้องการได้
เพราะคนส่วนใหญ่ยินดีจะช่วยผู้ที่ถูกชะตาหรือรู้สึกดีด้วย เทคนิค 6A เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เรามีวิธีคุย แล้วได้ใจคู่สนทนา
โดยเฉพาะเมื่อคู่สนทนาของคุณเป็นคนที่คุณไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ มาดูกันคะว่า 6A มีอะไรบ้าง
A1 Agree เห็นด้วย
คุณเคยคุยกับใครบางคนแล้วรู้สึกขัดใจ ไม่อยากคุยต่อ โดยเฉพาะเมื่อเวลาได้ยินคำว่า “ ไม่เห็นด้วย” หรือ “ไม่ถูกต้อง” มั้ยคะ
คำว่าไม่ เป็นคำที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่ากำลังถูกต่อต้าน ไม่ได้รับการยอมรับ ในขณะที่คำพูดว่า “ผมเห็นด้วยกับคุณ”
หรือ “ดิฉันเห็นด้วยกับความคิดของคุณ”เป็นคำพูดที่ นอกจากแสดงออกว่าผู้พูดกำลังได้รับการยอมรับ
แล้วยังทำให้คู่สนทนารู้สึกว่ากำลังคุยกับคนที่เป็นพวกเดียวกันด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
การสนทนาที่ดีควรเริ่มจากการฟังที่ดีก่อน การฟังที่ดีจะช่วยให้เราเลือกประเด็นที่เห็นด้วยกับเขาเพื่อนำมาสนทนาต่อได้
เพราะเมือคุณเห็นด้วยกับใคร เขาย่อมรู้สึกดีกับคุณแน่นอน หากไม่มีจังหวะในการพูดที่จะบอกว่าคุณเห็นด้วย
ให้ใช้ภาษากายตอบรับด้วยการค่อยๆพยักหน้า สบตา และรอยยิ้มอย่างจริงใจ ส่งไปให้คู่สนทนา
แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าคู่สนทนาของคุณมีความคิดยอดเยี่ยมจริงๆ ใช้ A ตัวถัดมาคะ
A2 Admire ชื่นชอบ ชื่นชม
แสดงให้เห็นว่าคุณชื่นชอบ ชื่นชม สิ่งที่คุณได้ยิน ได้เห็น หาโอกาสบอกให้คู่สนทนารับรู้ว่า ผมชื่นชอบความคิดนี้มากเลยครับ
ดิฉันเห็นว่าความคิดนี้เยี่ยมยอดมากเลยคะ อย่าลืมสื่อสารออกทางภาษากาย ด้วยสีหน้า แววตาที่รู้สึกดีจริงๆ พร้อมรอยยิ้มจากใจด้วย
ทำได้แบบนี้ คู่สนทนารู้สึกดีอย่างไม่ต้องสงสัย ที่นี้เกิดมีบางเรื่อง ที่คุณไม่เห็นด้วยขึ้นมา ทำยังไงดี เพราะการได้ใจคู่สนทนาควรได้มาจากความจริงใจ
และไม่พูดปด อย่ากังวลใจคะ มารู้จัก A ที่จะช่วยคุณเมื่อคุณเห็นไม่เหมือนกับคู่สนทนาของคุณกันเลย
A3 Acknowledge รับรู้
ถ้าเราบอกว่าไม่เห็นด้วย ในเรื่องที่เป็นความเห็น มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะมานั่งเถียงกัน เพราะความคิดเห็นเป็นความเชื่อ
ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้น อาจไม่มีหลักฐานหรือพิสูจน์ได้ ดังนั้นคนเราคิดเห็นต่างกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่เป็นเพียงความคิดเห็น
เราจึงไม่สามารถตัดสินให้ใครผิดหรือถูกได้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจะช่วยให้เราเข้าใจและเข้าถึงผู้อื่นมากขึ้น
ท้ายที่สุดเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความคิดหรือขยายมุมมองของกันและกัน ต่างคนอาจเห็นไม่ต่างกันก็ได้ แต่ทีนี้
ถ้าเป็นเรื่องข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความคิดเห็นล่ะ ทำยังไงดี ใช้ A ถัดไปคะ
A4 Adjust ปรับเปลี่ยน
ปรับเปลี่ยนสิ่งที่คู่สนทนาบอก โดยนำเสนอตามข้อเท็จจริง ไม่ใช้ความคิดเห็นหรือความรู้สึก
ที่สำคัญต้องไม่ทำให้เขารู้สึกเสียหน้า เราไม่จำเป็นต้องปรับหรือแก้ไขให้ถูกต้องทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆน้อยๆ ไม่มีสาระสำคัญ
ไม่มีผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ควรปล่อยผ่านไป ยกเว้น เรื่องที่จำเป็นหรือเรื่องที่ถ้ารู้ความจริงทีหลังว่าเราไม่ช่วยแก้ไขหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
จะทำให้เขาไม่พอใจ ว่าทำไมไม่บอก
A5 Accept ยอมรับ
ยอมรับในตัวตนของคู่สนทนา ในแบบอย่างที่เขาเป็น ทำใจให้เป็นกลาง ไม่นำความเชื่อ ความชอบของคุณมาตัดสินคู่สนทนา
ดังนั้นไม่ว่าคู่สนทนาของคุณจะมีรูปร่างอย่างไร แต่งตัวแบบไหน ขับรถยี่ห้ออะไร ใช้แชมพู สบู่ยี่ห้ออะไร มันก็ไม่ใช่เรื่องของคุณ
คุณควรมองข้ามเรื่องเหล่านี้ให้ได้ อย่าสนใจเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคุณ และอย่าทำให้มันเป็นอุปสรรคในการเป็นคู่สนทนาที่ดีของคุณ
เพียงเพราะคู่สนทนาของคุณไม่เป็นอย่างทีคุณคิดหรือคาดหวัง
อาจแต่ถ้าเผลอพูดผิด พูดสิ่งที่กระทบกระเทือนใจคู่สนทนา โดยไม่ตั้งใจ ทำยังไงดี ใช้ A ตัวนี้คะ
A6 Apologize ขอโทษ
ในระหว่างการสนทนา ถ้าเผลอพูดสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือพูดไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทำให้กระทบกระเทือนใจคู่สนทนาโดยไม่ตั้งใจ ทำอย่างไรให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น การกล่าวคำขอโทษจากใจจริง
ไม่ต้องอธิบายแก้ตัวมากมาย การแก้ตัวไม่ได้ช่วยให้คู่สนทนารู้สึกดีขึ้น เพราะดูเหมือนเป็นการปกป้องตนเองมากกว่าการแสดงออกถึงความรู้สึกผิด
และอาจทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ กล่าวคำขอโทษจากใจจริง จะทำให้คู่สนทนารับรู้ถึงสิ่งที่เรารู้สึก
รู้ว่าเราไม่มีเจตนาไม่ดีกับคู่สนทนา และจะช่วยให้ทุกอย่างจบลงได้ด้วยดี A6 นี้ มีเผื่อไว้ ในกรณีที่พูดไปแล้ว ไม่เข้าหูผู้ฟัง
ที่จริงขอแนะนำว่าควรหาทางหลีกเลี่ยงไม่ใช้เลยจะดีกว่า ดังนั้นทางที่ดีควรหาทางป้องกันความผิดพลาดด้วยการพัฒนาทักษะการฟังของตน
เพราะผู้ที่มีทักษะการฟังที่ดี จะรู้ว่าอะไรควรพูด และอะไรไม่ควรพูด
ต่อไปนี้ เมื่อคุยกับใคร อยากได้ใจเขา ให้ใช้เทคนิค 6A คือ
Agree เห็นด้วย
Admire ชื่นชม
Acknowledge รับรู้
Adjust ปรับเปลี่ยน
Accept ยอมรับ
Apologize ขอโทษ
ผู้ที่ใช้เทคนิค 6A ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีทักษะการฟังที่ดีด้วย เพราะถ้าอยากให้ใครฟังคุณ คุณต้องฟังเขาก่อน
เมื่อคุณมีทักษะการฟังที่ดีและใช้เทคนิค 6A คุณก็สามารถที่จะ คุยกับใครก็ได้ ได้ใจทุกคนคะ