การฟัง เป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาที่ดี โดยเฉพาะการฟังแบบเต็มร้อย
ทำให้เรารู้ว่าควรพูดอะไร ไม่ควรพูดอะไร และควรพูดอย่างไร
ถ้าฟังได้แบบนี้ก็จะเข้าถึงและได้ใจคนที่เราคุยด้วยแน่นอน
การฟังเต็มร้อย คือฟังทุกอย่างที่คู่สนทนาสื่อสารออกมา ไม่ว่าจะเป็นคำพูด
การเลือกใช้ถ้อยคำในการพูด น้ำเสียงที่เปล่งออกมา รวมทั้งโทนเสียงและจังหวะในการพูด
ตลอดจนสีหน้า แววตา ท่าทาง การขยับตัวและการเคลื่อนไหวในขณะสนทนาของคนที่เรากำลังคุยด้วย
การฟังแบบนี้ทำให้ผู้ฟังรับรู้ความรู้สึก เข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่คู่สนทนากำลังพูดได้มากยิ่งขึ้น
ถ้าฝึกฝนได้ในระดับขั้นสูง จะรู้ที่ไปที่มาของคำพูดที่คู่สนทนาใช้ เปรียบเหมือนอ่านใจคู่สนทนาได้
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ลองนึกถึงเวลาที่คุณพบใครสักคน แล้วบอกกับตัวเองว่า
คนนี้ดูมั่นใจจังทั้งๆที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อน ยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับเขาสักคำ
อะไรทำให้เราบอกกับตัวเองว่าคนคนนี้เป็นคนมั่นใจ สีหน้า แววตา ลักษณะการยืน การเคลื่อนไหว
หรือจะเรียกรวมๆว่าภาษากายของคนคนนั้นใช่มั้ยคะ นั้นแสดงว่าคุณสามารถฟังคนคนนั้นผ่านการสื่อสารทางภาษากายของเขาได้
และเคยมั้ยคะ เมื่อคุณได้ยินใครสักคนพูดคำว่า ได้ คุณคิดว่ามันไม่ได้หมายความว่า ได้จริงๆ
คำว่า ได้ อาจหมายถึง ได้ตามที่พูด หรือ หมายถึง ก้อได้ ไม่แน่ใจว่าได้มั้ย หรือได้ไปแบบงั้นๆ
คุณแยกแยะได้อย่างไร ถ้าคุณตอบว่าก็ฟังจาก น้ำเสียงและโทนเสียงไงล่ะ
แสดงว่าคุณมีทักษะการฟังการสื่อสารของคู่สนทนาที่ผ่านทางเสียงได้แล้วด้วยเช่นกัน
การฟังสิ่งที่คู่สนทนาไม่ได้พูด เป็นเทคนิคสำคัญที่ช่วยให้เข้าถึงผู้ฟัง
โดยในขณะฟัง ผู้ฟังต้องทำใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติกับผู้พูดหรือสิ่งที่ได้ฟัง
และให้ความสำคัญกับการฟังจริงๆ ไม่คิดปรุงแต่ง หรือมโน
รวมทั้งไม่คิดเตรียมคำพูดที่จะโต้ตอบหรือคำพูดโต้ตอบที่ทำให้ตัวเองดูดี
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถฝึกฝนได้ ขอเพียงแต่มีความตั้งใจและมุ่งมั่น
ดังนั้นการฟัง ครั้งต่อไป อย่าลืมฟังเต็มร้อย ฟังทั้งสิ่งที่คู่สนทนาพูด และไม่ได้พูด
ทำได้แบบนี้คุณก็จะเป็นผู้ฟังที่ดี มีวิธีที่จะพูดคุยกับใครๆ ได้ใจทุกคน ได้ผลอย่างไร เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ