เคยสงสัยมั้ยคะ? ทั้งๆ ที่หลายครั้ง
ก็มีการวางแผนอย่างดี แต่กลับย่ำอยู่กับที่
พอเจออุปสรรคเข้าหน่อย
กลับหยุดชะงักกลางคันเอาดื้อๆ
และค่อยๆ ถอยกลับสู่จุดเดิม
แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
หรือหลายคนก็มีอารมณ์ขึ้นลงไม่คงที่
เดี๋ยวทำ เดี๋ยวหยุด
สุดท้ายก็เลิกทำในที่สุด....
แล้วที่ผ่านมา
คุณได้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้แล้วหรือยัง?
ความตั้งใจดีๆ ไม่มีคำว่าสายเกินไปอย่างแน่นอน
เก็บมันขึ้นมาปัดฝุ่น แล้วเริ่มกันใหม่ไปพร้อมๆ กัน
กับหลักการตั้งเป้าหมายอย่าง SMART
ปลดล็อคศักยภาพใช้ตลอดปี
S คือ Specific หรือความเฉพาะเจาะจง
ความเฉพาะเจาะจง คือจุดเริ่มต้นของการตั้งเป้าหมาย
ยิ่งเราตั้งเป้าหมายที่เราต้องการได้ชัดเจนมากเท่าไหร่
โอกาสที่เราจะทำได้สำเร็จก็มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ถ้าตัวเองยังบอกตัวเองได้ไม่ชัด
ว่าต้องการอะไร แล้วเราจะเริ่มก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องได้อย่างไร
การตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง คือ การระบุขอบเขต มีเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม
สามารถชี้ได้ว่าอันไหนใช่-ไม่ใช่ เช่น เป้าหมายที่จะลดน้ำหนัก การเก็บเงินออม
ในขณะที่เป้าหมายเบลอๆ อย่างการบอกว่าจะทำชีวิตให้ดี ไม่สามารถระบุขอบเขตได้
เพราะชีวิตที่ดีเป็นไปได้หลากหลาย สุดท้ายก็อาจคว้าน้ำเหลวในที่สุด
ความเฉพาะเจาะจงช่วยลดความสับสน ทำให้รู้บทบาทของตัวเอง
นับว่าเป็นกรอบหรือแผนในการเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพที่สำคัญ
ความเฉพาะเจาะจงช่วยโฟกัสความมุ่งมั่นทุ่มเท
ทำให้ทุกย่างก้าวหนักแน่น เปี่ยมล้นไปด้วยพลัง
M คือ Measurable หรือการวัดได้
เป้าหมายที่วัดไม่ได้หรือไม่ถูกวัด อาจทำให้เราก้าวช้าลงเรื่อยๆ
ลองนึกถึงการวิ่งมาราธอน ถ้าไร้จุดหมาย ไม่รู้ระยะทาง
นักวิ่งก็ไม่สามารถเห็นความก้าวหน้าของตัวเองเป็นรูปธรรม
กำลังใจหาย พลังกายหด คิดลบไปเองว่ายังไปไม่ถึงไหน
แถมยังวางแผนไม่ถูกว่าจะออมแรงหรือเพิ่มความเร็วตรงไหน
จริงๆ แล้วเป้าหมายที่ Specific ชัดเจนพอ ล้วนสามารถวัดได้
ฉะนั้น เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องตีสเกลให้กับมัน
พร้อมกับหยิบเครื่องมือมาวัดความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ให้หลงผิดคิดแต่ว่ายังอยู่กับที่ หรือมโนไปเองว่ามาไกลพอแล้ว
อย่างการตั้งเป้าลดน้ำหนัก
แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่วัดได้ สิ่งสำคัญในที่นี้ จึงเป็นการระบุตัวเลขว่าต้องการลดกี่กิโลกรัม
พอกำหนดตัวเลขสุดท้ายได้ เราก็จะเห็นหมุดหมายระหว่างทาง
ความสำเร็จที่ดูเหมือนอยู่ไกล ก็สามารถสัมผัสได้ใกล้ๆ ทุกวัน
A คือ Agreeable เป็นการตกลงกับตัวเอง
การตั้งเป้าหมายที่ตัวเองยังลังเลสงสัย ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ
นั่นอาจไม่ใช่เป้าหมายที่เราต้องการจริงๆ ก็ได้
เป้าหมายที่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเองนั้นจะแจ่มชัดในใจ
ว่านั่นคือสิ่งที่ใช่ และมีคุณค่ากับตัวเรา
หากยังไม่รู้ชัดว่าเมื่อทำสำเร็จแล้วจะเกิดผลดีกับตัวเองจริงไหม
นี่คือสัญญาณว่า เรายังไม่ได้ตกลงกับตัวเองอย่างจริงจัง
ตัวเองจะตกลงกับตัวเองได้เมื่อเป้าหมายสอดคล้องกับความเชื่อและคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ
อย่างการตั้งเป้าว่าจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ก้าวหน้า
ถ้าเราไม่เชื่อว่าภาษาอังกฤษสำคัญกับตัวเราอย่างแท้จริง
หรือไม่สามารถตกลงกับตัวเองได้ว่าคือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ เราจะละทิ้งมันในที่สุด
ดังนั้น ต้องคุยกับตัวเองให้ชัด
เพื่อตรวจสอบว่าเป้าหมายนั้น สอดคล้องกับความเชื่อและคุณค่าของเราหรือไม่
เมื่อตกลงกับตัวเองได้อย่างแน่วแน่ เราจะไม่ยอมแพ้
และจะไม่หันหลังให้กับมันอย่างแน่นอน
R คือ Realistic หรือความเป็นไปได้จริง
เป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็เหมือนฝันลมๆ แล้งๆ
เมื่อปลายทางไกลเกินจะไขว่คว้า การลงมือทำก็ไร้ความหมาย
สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกในที่สุด
การตั้งเป้าหมายจึงต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง
ถ้ามีคนเคยทำสำเร็จมาแล้วยิ่งดี เพราะมีแนวทางให้ศึกษา
หรือหากยังไม่เคยมีใครทำได้ ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นจริง
ฝันไกลนั้นดีเสมอ แต่จะดียิ่งกว่า ถ้าทุกก้าวเปี่ยมด้วยความมั่นใจ
เป้าหมายที่เป็นไปได้จริง อาจนำหน้าสถิติในรูปแบบที่เหมาะสม
เมื่อสถิติเก่าถูกทำลาย เป้าหมายใหม่ที่ไกลขึ้นย่อมเป็นไปได้เสมอ
T คือ Time Bound หรือการกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน
หากเป้าหมายไม่มีกรอบเวลา แผนนั้นอาจไม่มีวันสำเร็จ
เมื่อไม่มีเส้นตายอยู่ตรงหน้า เราจะทอดเวลาออกไปไม่รู้จบ
วันเดือนปีบนปฏิทิน จะช่วยย้ำเตือนว่าเราต้องก้าวหน้าทุกวัน
ทุกความสำเร็จที่วัดได้ ณ แต่ละหมุดหมาย คือกำลังใจที่สำคัญ
และที่สำคัญยิ่งกว่า เราสามารถมีเป้าหมายได้มากมายในชีวิต
แต่สุดท้ายจะไม่สำเร็จสักอย่าง หากขาดแผนที่มีประสิทธิภาพ
เราจะวัดประสิทธิภาพได้ ก็ด้วยการเปรียบเทียบกับเวลาที่ใช้ไป
อย่างการตั้งเป้าหมายในเรื่องการศึกษา-พัฒนาทักษะใหม่
ถ้าไม่ระบุเส้นตาย-วันเดือนปีไหนในอนาคต ที่เราต้องทำให้ได้
เราจะเสียเวลาให้กับสิ่งที่สำคัญน้อยกว่า หรือไม่สำคัญเลยในที่สุด
แผนเรื่องเวลาจึงทำหน้าที่คัดสรรแต่สิ่งที่คุ้มค่าและคู่ควร
ให้เราได้มีชีวิตที่มีคุณค่าที่สุด ในช่วงชีวิตที่จำกัดของเรา
ตัวอย่างเป้าหมาย SMART
ฉันต้องการลดน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ในระยะเวลา 1 เดือน
เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมาย SMART
เพราะมี....
S – Specific ฉันต้องการลดน้ำหนัก
M – Measurable ลดน้ำหนัก 3 กิโลกรัม
A – Agreeable ตกลงกับตัวเองว่าจะทำให้ได้
R – Realistic ใครหลายคนก็เคยทำได้ ดังนั้นฉันก็ทำได้
T – Time Bound ตั้งเป้าว่าอยู่ในระยะเวลา 1 เดือน นับจากวันที่ตกลงกับตัวเอง
หากคุณไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้
คุณก็ไม่มีวันไปสู่เป้าหมายได้แน่นอน
อย่าลืม!ตรวจสอบ เป้าหมายของตัวเอง ว่า SMART แล้วหรือยัง
เจาะจง วัดได้ มุ่งมั่น ทำได้จริง ในเวลาที่กำหนด
ตอนนี้อยากรู้จังว่าเป้าหมาย SMART ของคุณ คืออะไร?