Support
xeonchemicalasia
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

มายาคติ “คนไทยอ่านหนังสือน้อย” เปิดงานวิจัย 10 ปีย้อนหลัง ไม่พบข้อมูล “อ่านแค่ปีละ 8 บรรทัด”

Xeon@hotmail.com | 10-10-2560 | เปิดดู 1727 | ความคิดเห็น 0

มายาคติ “คนไทยอ่านหนังสือน้อย” เปิดงานวิจัย 10 ปีย้อนหลัง ไม่พบข้อมูล “อ่านแค่ปีละ 8 บรรทัด”

 

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า เด็กเป็นช่วงวัยที่อ่านหนังสือมากที่สุด และคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 66 นาที/วัน ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/images/1141272?s=750x500
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า เด็กเป็นช่วงวัยที่อ่านหนังสือมากที่สุด และคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 66 นาที/วัน ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/images/1141272?s=750×500

วาทกรรม “คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ปีละ 8 บรรทัด” หลอกหลอนผู้คนในแวดวงการศึกษาและอุตสาหกรรมหนังสือมานับสิบปี ทั้งที่ไม่เคยมีใครหาข้อมูลใดๆ มายืนยันประโยคดังกล่าวได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว แถมหากลองคิดดูด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ เป็นไปได้หรือ ..ที่ตลอดทั้ง 365 วัน คนไทยทั่วๆ ไปจะอ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัด ..หรือเฉลี่ย 45 วัน (เดือนครึ่ง) ต่อ 1 บรรทัด !

แต่ทั้งๆ ที่ ข้อมูลออกจะเหนือจริงขนาดนั้น กลับยังมีคนบางกลุ่มเชื่อ และหยิบไปผลิตซ้ำว่า “คนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 8 บรรทัด” อยู่เรื่อยๆ

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี (2550-2559) ว่ามีแหล่งข้อมูลใดยืนยันความเชื่อดังกล่าว แต่พบงานวิจัยที่ยืนยันว่า คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือ “ปีละน้อยบรรทัด” แต่เป็น “วันละหลายนาที” ที่สำคัญยังมีแนวโน้มที่จะอ่าน “มากขึ้น” เรื่อยๆ

ล่าสุดผลวิจัยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปรากฎว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่าน “เฉลี่ย 66 นาที/วัน”

โดยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการอ่านของคนไทยที่น่าสนใจ มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ชิ้น จัดทำโดย 3 องค์กร ประกอบด้วย

  1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ (4 ชิ้น) ทำการวิจัยเรื่อง “การอ่านของประชากร” มาตั้งแต่ปี 2546 ตามนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น ที่ประกาศให้ปีนั้นเป็น “ปีแห่งการอ่าน” โดยในรายงานข่าวชิ้นนี้จะเลือกเฉพาะของปี 2551, 2554, 2556 และที่ร่วมมือกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) จัดทำขึ้นในปี 2559
  1. TK park ที่จัดทำขึ้นในปี 2551 และที่ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำขึ้นในปี 2559
  1. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมมือกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จัดทำขึ้นเมื่อปี 2558 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ข้อมูลที่ปรากฎผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนไทย สรุปได้ดังนี้

พฤติกรรมการอ่านของคนไทยในรอบ 10 ปี (2550-2559)

– งานวิจัย ปี 2551 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

เป็นการทำงานวิจัยหัวข้อ “การอ่านของประชากร” ครั้งที่ 3 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ต่อจากครั้งแรก ในปี 2546 และครั้งที่สอง ในปี 2548) ซึ่งมีกำหนดทำการสำรวจ 2-3 ปี/ครั้ง

จากการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2551 จาก 52,000 ครัวเรือนตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย ปรากฎว่า คนไทย 66.3% ระบุว่าอ่านหนังสือ อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาอ่านหนังสือ เฉลี่ย 39 นาที/วัน

(หมายเหตุ : การสำรวจครั้งนี้เพิ่มกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 6 ปีเข้าไปด้วย จากที่ไม่เคยสำรวจมาก่อน)

– งานวิจัย ปี 2551 (TK Park)

TK Park ได้มอบหมายให้บริษัท เอคอร์น มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ รีเสริช์ คอนซัลแทนส์ จำกัด จัดทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้คนไทยได้อ่านหนังสือมากขึ้น สร้างวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามภารกิจของ TK Park

จากการรวบรวมข้อมูล ระหว่างมิถุนายน  – กันยายน 2551 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งเด็กอายุ 7-24 ปี และผู้ปกครองที่มีลูกอายุ 0-6 ปี (งานวิจัยของ TK Park จะเน้นไปที่เด็กและเยาวชน) โดยใช้วิธีเก็บข้อมูลหลากหลาย ทั้งโฟกัสกรุ๊ป สัมภาษณ์ และเวิร์กช็อป รวมอย่างน้อย 1,600 ตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภุมิภาค ปรากฎว่า คนไทยชอบอ่านหนังสือในช่วงสุดสัปดาห์ ชอบอ่านในห้องนอนของตัวเอง ประเภทหนังสือที่ชอบอ่าน หากเป็นเด็กและเยาวชนคือการ์ตูน ส่วนผู้ปกครองคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 50 นาที/วัน

– งานวิจัย ปี 2554 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

เป็นการทำงานวิจัยหัวข้อ “การอ่านของประชากร” ครั้งที่ 4 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากการรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2554 จาก 53,000 ครัวเรือนตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย ปรากฎว่า คนไทย 68.6% ระบุว่า อ่านหนังสือ อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาอ่านหนังสือ เฉลี่ย 35 นาที/วัน

– งานวิจัย ปี 2556 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

เป็นการทำงานวิจัยหัวข้อ “การอ่านของประชากร” ครั้งที่ 5 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากการรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2556 จาก 55,920 ครัวเรือนตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย ปรากฎว่า คนไทย 81.8% ระบุว่า อ่านหนังสือ อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาอ่านหนังสือ เฉลี่ย 37 นาที/วัน

– งานวิจัย ปี 2558 (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ)

เป็นการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลของผู้บริโภค ทั้งพฤติกรรมการอ่าน การซื้อหนังสือ รวมถึงวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการซื้อหนังสือ รวมถึงผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต e-book/digital content ที่มีผลต่อการอ่านหนังสือเล่มของคนไทย

จากการรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนธันวาคม 2557 – เดือนมกราคม 2558 จาก 3,432 กลุ่มตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค เฉพาะช่วงวัย 15-69 ปี โดยมีการแบ่งนิยามให้การ “อ่าน” หมายถึงอ่านสื่อทุกประเภท และการ “อ่านหนังสือ” หมายรวมเฉพาะการอ่านหนังสือเล่ม ปรากฎว่า คนไทยอ่าน 88.0% และอ่านหนังสือ 60.3% โดยใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ย 46 นาที/วัน และส่วนใหญ่ยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตทำให้การอ่านน้อยลง

– งานวิจัย ปี 2559 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ TK Park)

เป็นการทำงานวิจัยหัวข้อ “การอ่านของประชากร” ครั้งที่ 6 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่เป็นครั้งแรกที่ร่วมมือกับ TK Park และมีการขยายนิยามของคำว่า การ “อ่าน” นอกจากอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ ตำรา ฯลฯ ยังให้รวมถึงการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/SMS/E-mail ด้วย

จากการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2558 จาก 55,920 ครัวเรือนตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และทุกช่วงวัย ปรากฎว่า คนไทย 77.7% อ่าน อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ และใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ย 66 นาที/วัน(หมายเหตุ : การสำรวจครั้งนี้ทำในปี 2558 แต่เผยแพร่ผลสำรวจในปี 2559)

งานสัปดาห์หนังสือในปีนี้ (29 มี.ค.-10 เม.ย.2559) จัดขึ้นภายใต้ธีม "ความหวัง" โดยนายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในฐานะแม่งาน ระบุว่า ความหวังสูงสุดคือให้คนมาอ่านหนังสือมากขึ้น
งานสัปดาห์หนังสือครั้งแรกของปีนี้ (29 มี.ค.-10 เม.ย.2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) จัดขึ้นภายใต้ธีม “ความหวัง” โดยนายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในฐานะแม่งานหลัก ระบุว่า ความหวังสูงสุดคือให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะหนังสือทุกเล่มมีคุณค่า แต่จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย หากไม่มีคนเปิดอ่าน

จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่า ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดในรอบ 10 ปีหลังที่ระบุว่า “คนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 8 บรรทัด” ขณะที่นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย องค์กรที่เป็นแม่งานหลักในการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้กล่าวเรียกร้องว่า “ขอให้เลิกพูดประโยคดังกล่าวได้แล้ว เพราะไม่เคยมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงใดๆ รองรับ”

อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยจะใช้เวลาในการอ่านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนก็พบว่า การอ่านของไทยยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ อ้างอิงจากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของนายกุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เมื่อปี 2555 ที่ระบุว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 2-5 เล่ม/ปี เทียบกับคนสิงคโปร์ 50-60 เล่ม/ปี และคนเวียดนาม 60 เล่ม/ปี

และจากงานวิจัย 6 ชิ้นที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำมาอ้างอิงข้างต้น สาเหตุสำคัญของการ “ไม่อ่านหนังสือของคนไทย” ส่วนใหญ่เป็นเพราะชอบเสพสื่อประเภทอื่นๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต

นี่คือโจทย์ใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายว่า แม้คนไทยจะไม่ได้อ่านหนังสือน้อยบรรทัด แต่จะทำอย่างไรในการสร้าง “วัฒนธรรมการอ่าน” ให้คนไทยได้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการอ่านไม่เพียงทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร สร้างความรื่นรมย์ ยังสร้างภูมิปัญญา ซึ่งจะเป็นต้นทุนในการพัฒนาประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

แหล่งอ้างอิง https://thaipublica.org/2016/04/print-10/

ความคิดเห็น

วันที่: Thu Mar 28 21:48:53 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

สั่งซื้อผ่านทาง :

มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อความพึงพอใจของลูกค้า และพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง
Committed to develop quality product. For customer satisfaction and  successively system development.
 
 
CONTACT
 
บริษัท ซีออน เคมีคอล (เอเซีย) จำกัด
109/84 หมู่ที่ 21 ซอย จงศิริ ถนน บางพลี-ตำหรุ ตำบล บางพลีใหญ่
อำเภอ บางพลี จังหวัด สมุทรปราการ 10540
 
XEON CHEMICAL (ASIA) CO.,LTD.
109/84 Moo 21 Soi Jongsiri  Bangplee-Tamru Rd.,
T.Bangpleeyai A.Bangplee Samutprakarn 10540 Thailand
FOLLOW US

FACEBOOK     

YOUTUBE